บทสัมภาษณ์พิเศษ “คุณแม่รู้ทันครรภ์เสี่ยงสูง” คุณจูเนียร์ - ณัฏฐาพัชร์

การมีลูกสักคนเป็นความฝันของผู้หญิงมากมาย สำหรับคุณจูเนียร์ - ณัฏฐาพัชร์ พูนผลหิรัญ, Costume Artist, วัย 27 ปี ทั้งที่รู้ว่าความฝันนี้ไม่ใช่เพียงความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ แต่ยังหมายถึงความเสี่ยงต่อชีวิตของตัวเธอเอง เธอก็พร้อมจะเดินทางตามเส้นทางความฝันนี้ ด้วยความมั่นใจในการดูแลของแพทย์และโรงพยาบาลนวเวชที่เข้าใจถึงความหมายของลูกที่เป็นดั่งแก้วตาดวงใจของพ่อแม่

 

คุณณัฏฐาพัชร์ ตั้งครรภ์โดยมีภาวะโรคหัวใจ ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อเธออายุได้เพียง 13 ปี เริ่มมีอาการไอ เหนื่อยง่าย หอบ และเป็นลมอยู่บ่อยครั้ง จนเมื่อมีการ Ultrasound จึงได้พบว่ากล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง และเจอเนื้องอก เลยเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกที่หัวใจในทันที แม้จะผ่านมา 13 ปีแล้ว เธอก็ยังคงมีอาการเหนื่อยง่ายอยู่

 

เมื่อมีปัญหาด้านสุขภาพ การเตรียมตัวจึงสำคัญมาก

“จูเนียร์แต่งงานปี 2565 ค่ะ ก็แพลนกับแฟนตั้งใจจะมีน้องเลยตอนนั้นก็กังวลนะ เพราะทั้งโรคหัวใจของตัวเองและเรื่องมะเร็งที่สมาชิกในครอบครัวทางฝั่งสามีมีประวัติ แต่เราก็ตั้งสติจัดการว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องระวังมากที่สุด นั่นก็คือเรื่องโรคหัวใจของตัวเราเอง”

 

 

“ทราบว่าตั้งครรภ์ตอนอายุครรภ์ 1 เดือน พอเมนส์ไม่มาก็เลยตรวจ แล้วก็เริ่ม Search หาข้อมูลโรงพยาบาลและคุณหมอที่จะไปฝากครรภ์ ส่วนตัวคิดว่าเนื่องจากโรคเรามันก็หนักอยู่เหมือนกัน เราเลยอยากเลือกคุณหมอที่ไม่เครียดจนเกินไปไม่ strict จนกดดัน เพราะเราเชื่อว่าคนท้องก็คือคนปกติคนนึงนะ พี่สาวแฟนยังพูดว่าคนท้องไม่ใช่คนป่วย อย่าจำภาพในละคร ใครถามก็อย่าไปฟังมาก ใช้ชีวิตให้ปกติ”

 

สบายใจเมื่ออยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ

“จูเนียร์มาอ่านเจอข้อมูลของคุณหมอฟลุ๊ค นายแพทย์ธิติพันธุ์ น่วมศิริ ก็ชอบสไตล์และแนวทางการดูแลคุณแม่ที่มีความเสี่ยงเลยตัดสินใจเข้ามาปรึกษาและฝากครรภ์กับคุณหมอที่รพ.นวเวช”

 

นายแพทย์ธิติพันธุ์ น่วมศิริ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM) ศูนย์สุขภาพผู้หญิง โรงพยาบาลนวเวช อธิบายถึงกรณีคุณณัฏฐาพัชร์ว่า “เป็นการตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูง หรือที่เรียกว่า High - Risk Pregnancy คือ ภาวะใด ๆ ก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแม่เองและทารกในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความผิดปกติของโครโมโซม หรือเป็นโรคประจำตัวของแม่ อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเสียชีวิตได้ ทั้งในระหว่างตั้งครรภ์ ขณะคลอด หรือหลังคลอด ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์”

 

“สำหรับเคสของคุณจูเนียร์ที่มีอาการของโรคหัวใจแต่กำเนิด และได้รับการผ่าตัดก้อนเนื้องอกที่หัวใจตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น เราเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษ เพราะในช่วงของการตั้งครรภ์การเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนเลือดจะมากขึ้น ทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้นซึ่งเราได้ดูแลคู่กับคุณหมอหัวใจที่ทำ Echo ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและประเมินเรื่องของความดันเป็นระยะ ๆ”

 

คุณณัฏฐาพัชร์ เล่าเพิ่มเติมว่า “อาการที่จูเนียร์เป็นระหว่างการตั้งครรภ์ คือไตรมาสแรกก็ยังเป็นลมง่าย วูบ เวลาทำงานบ้านอากาศร้อนจะเป็นลม ไตรมาส 2 ก็ยังมีอาการเป็นลมอยู่บ้าง คุณหมอฟลุ๊คก็แนะนำเพิ่มเติมให้อยู่เฉย ๆ อย่า active เกินไป แต่อาการแพ้ท้องทั่วไปไม่มี” 

 

นายแพทย์ธิติพันธุ์ กล่าวต่อว่า “ในส่วนทารก เราตรวจประเมินครบทุกอย่างทั้งตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม เบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ซึ่งทารกสมบูรณ์แข็งแรงดี ส่วนที่ผมกังวลมากกว่าคือการคลอด เพราะคุณแม่อยากคลอดธรรมชาติซึ่งคุณแม่ใจสู้มาก ลองคลอดธรรมชาติก่อนแต่ไม่สำเร็จ เพราะการเบ่งและความเจ็บปวดในการคลอดทำให้หัวใจทำงานเพิ่มมากขึ้น และปากมดลูกไม่เปิดเพิ่มเลยต้องทำการผ่าคลอด เพราะกลัวภาวะหัวใจล้มเหลวระหว่างคลอด”

 

“ตอนนั้นทางนวเวชให้คุณหมอ 3 ท่านมาดูแลเคสของจูเนียร์เลยค่ะ นอกจากคุณหมอฟลุ๊ค ก็ยังมีคุณหมอวริษฐา เล่าสกุล อายุรแพทย์โรคหัวใจ ที่เชี่ยวชาญโรคหัวใจ และคุณหมอปรเมศวร์ ที่ดูแลทารกแรกเกิดที่มีภาวะวิกฤต ก็เลยอุ่นใจมาก”

 

ดูแลรอบด้านด้วยความเข้าใจ

 

 

นายแพทย์ปรเมศวร์ วงศ์ประเสริฐ กุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช กล่าวว่า “เราต้องแน่ใจว่าลูกไม่มีภาวะหัวใจผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด ทารกไม่มีภาวะพร่องออกซิเจนตั้งแต่อยู่ในครรภ์เพราะจะทำให้มีปัญหาเรื่องปอด ซึ่งคุณหมอธิติพันธุ์เป็นผู้ดูแลในส่วนนี้ ในส่วนของหมอ หลังคลอดเราจะวินิจฉัยทั้งเรื่องหัวใจ การหายใจ และปอดที่ต้องระวังมากกว่าทารกแรกเกิดทั่วไป ”

 

“การดูแลทารกแรกเกิดที่มีความเสี่ยงสูง เราต้องดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจซึ่งมักถูกละเลย เพราะคิดว่าทารกอาจไม่มีความเจ็บปวดทางจิตใจ ซึ่งการจะดูแลทารกได้เป็นอย่างดี หมอสูติฯ และหมอเด็กต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด หมอเองจะมีการตรวจติดตามที่มีความถี่สูงกว่ากรณีทั่วไป เพื่อเฝ้าระวังและสังเกตโอกาสที่จะมีปัญหาอื่น ๆ ร่วม รวมทั้งระวังผลข้างเคียงต่าง ๆ และดูเรื่องพัฒนาการของเด็กเป็นพิเศษ”

 

“เมื่อคลอดน้องพีเจออกมา เราพบว่าน้องมีพังผืดใต้ลิ้น ซึ่งภาวะนี้แบ่งความรุนแรงได้เป็น น้อย ปานกลาง และมาก ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการเข้าเต้าดูดนมมารดา และเมื่อเด็กโตขึ้นอาจมีปัญหาด้านการพูด การสะกดคำ เช่น พูดไม่ชัดในคำควบกล้ำ เพราะต้องใช้การกระดกลิ้นหมอจึงให้คำแนะนำกับคุณแม่ว่าการรักษาตอนนี้โดยการขลิบพังผืดใต้ลิ้นในวัยทารกก็จะทั้งง่ายกว่าและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า ซึ่งคุณแม่ก็ตัดสินใจให้ดูแลตรงนี้ไปเลย”

 

บริการและสถานที่ดีเหมือนโรงแรม

“จูเนียร์ประทับใจกับพนักงาน วอร์ด และโรงพยาบาลมาก คุณแม่ของจูเนียร์ประทับใจพยาบาลมาก ห้องสะอาด แม่บ้านสะอาดมาก ทุกคนพูดเพราะ หลังผ่าคลอด จูเนียร์นอนพัก 3 คืน อาหารอร่อยเวลาใครจะมาเยี่ยมถามเราว่าคลอดที่ไหน ก็เผลอเรียกว่าโรงแรมนวเวชหลายครั้ง เพราะห้องพักและการดูแลดีมาก คิดถูกแล้วที่เลือกฝากครรภ์และคลอดที่นวเวช ไม่ต้องกังวลอะไรเลยค่ะ”