โรคลมชัก Epilepsy

โรคลมชัก (epilepsy) คือ โรคที่ผู้ป่วยมีอาการชักซ้ำโดยที่ไม่มีปัจจัยกระตุ้น (provoking factor) ชัดเจน อาจจะพบพยาธิสภาพในสมองหรือไม่ก็ได้

 

สาเหตุของโรคลมชักเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่

 

1. โรคหลอดเลือดสมอง มักเป็นสาเหตุของการชัก และโรคลมชักในผู้สูงอายุถึง 55%

2. การพัฒนาการทางสมองที่ผิดปกติ ความผิดปกติของขั้นตอนการสร้างสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ขาดออกซิเจนระหว่างคลอด พบเป็นสาเหตุ 18% พบบ่อยในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 14 ปี

3. อุบัติเหตุที่ศีรษะ พบบ่อยในช่วงอายุ 15 – 24 ปี โดยพบถึง 45%

4. โรคเนื้องอกสมอง พบมากในผู้ป่วยที่อายุ 35 ปีขึ้นไป

5. โรคติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ) ติดเชื้อในครรภ์ พบเป็นสาเหตุหลักในกลุ่มเด็ก และผู้สูงอายุ

6. โรคสมองเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ พบในผู้สูงอายุประมาณ 10% ของผู้ป่วยสมองเสื่อมมีอาการชักร่วมด้วย

7. พันธุกรรม ได้แก่ กลุ่มอาการที่เด่นชัด และเริ่มเกิดโรคลมชักตามอายุ, ความผิดปกติทางระบบประสาทร่วมกับผิวหนัง, เซลล์สมองพัฒนาผิดรูปบางชนิด

 

แนวทางการวินิฉัยโดยการ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุ สืบค้นจำแนกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

 

1. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การวิเคราะห์เลือด และน้ำไขสันหลัง

2. การตรวจการทำงานของสมอง เช่น electroencephalography (EEG), single photon emission computerized tomography (SPECT), positron emission tomography (PET) เป็นต้น

3. การตรวจกายภาพของสมอง เช่น computed tomography (CT), magnetic resonance imaging (MRI)

 

วันนี้เราจะมาพูดเรื่องการตรวจการทำงานของสมอง คือ electroencephalography (EEG) ประโยชน์ของการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในการวินิจฉัยอาการชักและโรคลมชัก ได้แก่

 

  • สนับสนุนการวินิจฉัยโรคลมชัก เมื่อพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมองแบบ epileptiform discharges

  • จำแนกประเภทของอาการชัก และกลุ่มโรคลมชัก

  • ระบุตำแหน่งจุดเริ่มต้นของอาการชัก

 

เราสามารถตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่พบอาการชัก การตรวจ 3-4 ครั้งจะมีโอกาสพบความผิดปกติเพิ่มขึ้น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองหลังการชักไม่นาน โดยเฉพาะในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังการชัก จะมีโอกาสพบความผิดปกติมากขึ้น

 

ขั้นตอนการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง

 

1. เจ้าหน้าที่จะจัดท่าผู้ป่วยให้นอนบนเตียงหรือนอนบนเก้าอี้ที่เอนนอนได้

2. ติดสายตรวจ หรืออิเล็กโทรดบนหนังศีรษะผู้ป่วยในตำแหน่งต่างๆ ที่ได้ทำความสะอาดไว้แล้ว จากนั้นต่อสายตรวจเข้าเครื่องตรวจคลื่นสมอง

3. ก่อนเริ่มบันทึก บอกผู้ป่วยให้หลับตา ทำตัวให้ผ่อนคลาย และไม่เคลื่อนไหว หรือให้อยู่นิ่ง ๆ

4. เมื่อเปิดเครื่องตรวจจะเกิดเส้นกราฟ ซึ่งเกิดจากสัญญาณไฟฟ้าในสมองปรากฏบนจอภาพตลอดเวลาที่ทำการบันทึก

5. ระหว่างการตรวจจะมีการบันทึกการกระพริบตา การกลืนน้ำลาย การพูดคุย หรือการเคลื่อนไหวอื่นๆ และบันทึกสิ่งที่พบเหล่านี้บนรอยเส้น (tracing) การเคลื่อนไหวเหล่านี้อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดรอยเส้นที่แปลกไป และเป็นการแปลผลที่ไม่ถูกต้องจากรอยเส้นที่ผิดปกติ

6. หลังจากบันทึกไว้เป็นพื้นฐานเบื้องต้นแล้ว ขณะตรวจจะมีการกระตุ้นการทำงานของคลื่นสมองด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้สามารถตรวจพบภาวะผิดปกติได้ชัดเจน เช่น หายใจลึกๆ และเร็วๆ (hyperventilation) นานติดต่อกันเป็นเวลา 3-5 นาที การกระตุ้นด้วยแสงไฟกระพริบที่มีความถี่ต่างๆ (photo stimulation) กระตุ้นที่ใบหน้าของผู้ป่วย เป็นแสงวาบ (flash) 1-20 ครั้ง/วินาที เป็นการตรวจการทำงานของสมองส่วนกลางที่แสดงปฏิกิริยาต่อแสงสว่าง

7. เมื่อตรวจเสร็จ เจ้าหน้าที่จะช่วยผู้ป่วยเอาครีมอิเล็กโทรดออกจากผมผู้ป่วย

8. กราฟที่ได้มานั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้วิเคราะห์เพื่อประเมินผล และวางแผนการรักษาต่อไป