6 อาหารเช้าที่ควรหลีกเลี่ยง หรือรับประทานแต่น้อย

เครื่องดื่มชงน้ำตาลสูง เช่น กาแฟเย็น ชาเขียว ชาเย็น โกโก้เย็น จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างร้านค้าย่านเศรษฐกิจของเขตเมือง พบในเครื่องดื่ม 1 แก้ว (250 มล.)  มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ยอยู่ที่ 11 ช้อนชา ซึ่งหมายความว่าหากบริโภคเครื่องดื่ม 1 แก้ว จะได้รับน้ำตาลเกินความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน และในเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารอาหารน้อยมากในส่วนผสมหลัก คือ มีน้ำตาล และไขมันจากครีมเทียมในปริมาณสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว

 

อาหารปิ้งย่างกับข้าวเหนียว เช่น หมูปิ้ง ไก่ย่าง ตับย่าง อาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเนื้อสัตว์ติดมัน และมีความไหม้เกรียมจากการปิ้งย่าง การบริโภคอาหารปิ้งย่าง หรือรมควัน จะทำให้ได้รับสารก่อมะเร็ง ที่ชื่อว่า PAHs หรือ Polycyclic Aromatic Hydrocarbons ซึ่งสารนี้เป็นสารชนิดเดียวกันกับที่พบในควันท่อไอเสียรถยนต์ หรือควันบุหรี่ หากมีการสะสมในร่างกายมาก ๆ อาจมีความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ในอนาคต อีกทั้งเนื้อสัตว์ที่ผ่านการหมักด้วยเครื่องปรุงมาอย่างเข้มข้น เต็มไปด้วยโซเดียมจากซอส และผงปรุงรส ทำให้ได้รับปริมาณ Sodium เกินความต้องการของร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง และโรคไต ขณะที่ข้าวเหนียวนั้นมีค่าดัชนีน้ำตาลที่สูง ถูกย่อย และดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็ว ซึ่งหากรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงเป็นประจำ จะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และเกิดโรคเบาหวานได้ในอนาคต

 

อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน มี Sodium ปริมาณมาก หากรับประทานปริมาณมากเป็นประจำ อาจนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ยังประกอบไปด้วยไขมันอิ่มตัวสูง ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจ และโรคอ้วน รวมถึงอาหารเหล่านี้ ยัง มีวัตถุเจือปนอาหาร คือโซเดียมไนไตรท์ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งกระเพาะอาหารได้

 

อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารชนิดนี้มีปริมาณ Sodium และไขมันในปริมาณสูง มีปริมาณใยอาหารน้อย หากรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักตัวมาก ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ และมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

 

ปาท่องโก๋ เป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการทอดด้วยน้ำมันชุ่ม ๆ โดยใช้ความร้อนสูง ทำให้มีโอกาสที่จะพบสาร Acrylamide โดยมีรายงานการศึกษาด้านพิษวิทยา พบว่า ถ้าได้รับสาร Acrylamide ในปริมาณมากจะมีพิษต่อระบบประสาท ทั้งนี้หน่วยงานการพัฒนาสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง องค์การอนามัยโลก จัดให้เป็นสารในกลุ่มที่อาจก่อมะเร็งในคน รวมทั้งปาท่องโก๋มีแป้ง และไขมันในปริมาณมาก มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวานและโรคอ้วน

 

ขนมอบ เบเกอรี เป็นขนมที่มีดัชนีน้ำตาลสูง เพราะส่วนใหญ่ผลิตด้วยแป้งขัดขาว ซึ่งแป้งทำขนมเหล่านี้จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวที่ร่างกายดูดซึมในรูปแบบของน้ำตาลได้รวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และยังมีไขมันทรานส์ เป็นไขมันที่ถูกนำมาใช้ในอาหารจำพวกเบเกอรี เค้ก คุกกี้ ครีมเทียม หลายงานวิจัยพบว่าการบริโภคไขมันทรานส์จะทำให้ระดับของไขมันไม่ดีเพิ่มสูงขึ้น (LDL) ลดไขมันชนิดดี (HDL) และไปสะสมในผนังหลอดเลือด ซึ่งมีโอกาสทำให้หลอดเลือดอุดตันและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดอนาคต

 

จากตัวอย่าง 6 อาหารเช้าที่ควรหลีกเลี่ยง ชี้ให้เห็นถึงอันตรายจากอาหารดังกล่าว เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกเมนูอาหารเช้าให้มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อการมีสุขภาพที่ดีในอนาคตระยะยาว ผู้บริโภคควรเลือกรับประทานอาหารเช้าที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ นอกจากนี้ควรหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอร่วมด้วย